หากพูดถึงอาคารโกดังเก่า นอกจากตัวสถาปัตยกรรมที่ผ่านกระบวนการออกแบบมาอย่างถี่ถ้วนแล้ว แน่นอนว่ายังเป็นอีกหนึ่งในความท้าทายของการบริหารจัดการพื้นที่ใช้สอยกับการปรับปรุงตัวโครงสร้างสถาปัตยกรรมเดิม กับการออกแบบที่จำเป็นต้องตอบสนองต่อประโยชน์ใช้สอยในโครงการออกแบบโรงพยาบาลสัตว์
จุดเริ่มต้นโครงการออกแบบโรงพยาบาลสัตว์พอเพลิน (Pawplearn Animal Hospital Design) เกิดขึ้นมาจากความประสงค์ของเจ้าของโครงการที่ต้องการจะปรับปรุงอาคารเก่า ซึ่งตั้งอยู่ในซอยงามวงศ์วาน 9 ภายใต้เงื่อนไขของตัวอาคารเดิมที่เคยถูกใช้เป็นโกดังสินค้าเก่าจำนวน 5 ชั้นมีผังพื้นคล้ายรูปตัว L และมีแผ่นพื้นกลวงคอนกรีตอัดแรง (Hollow Core) ฝากกับระบบเสาคอนกรีตเป็นโครงสร้างพื้นเดิมของตัวอาคารในทุกชั้น ประกอบกับมีครีบกันแดดยื่นอยู่ภายนอกฝั่งทิศตะวันตกประชิดกับพื้นที่ทางเข้า เป็นหนึ่งในความท้าทายของการบริหารจัดการพื้นที่ใช้สอยกับการปรับปรุงตัวโครงสร้างสถาปัตยกรรมเดิม ด้วยบริบทแวดล้อมของโครงสร้างอาคารดังกล่าวประกอบกับการออกแบบที่จำเป็นต้องตอบสนองต่อประโยชน์ใช้สอยในการเป็นโรงพยาบาลสัตว์ ส่งผลต่อการกำหนดรูปแบบพื้นที่ใช้สอยของภายในโครงการ
โดยในขั้นตอนการออกแบบ ทีมผู้ออกแบบได้รับคำแนะนำ จาก รศ.น.สพ.ดร. กัมปนาท สุนทรวิภาต ในขั้นตอนการศึกษากำหนดรายละเอียดของโครงการ จนนำมาสู่การกำหนดให้เกิดความผสมผสานในเชิงการออกแบบพื้นที่ใช้สอยให้พื้นที่ชั้น 1-3 เป็นโรงพยาบาลสัตว์ โดยมีพื้นที่ชั้น 1 ของอาคารทำหน้าที่เป็นส่วนต้อนรับ เวชระเบียน ห้องตรวจ ห้องเวชภัณฑ์ ส่วนผู้ป่วยนอก (OPD) รวมถึงพื้นที่ของสระว่ายน้ำสำหรับทำกายภาพบำบัดสัตว์ พื้นที่ชั้น 2 เป็นส่วนของผ่าตัดสุนัข แมว และสัตว์เฉพาะ (Exotic pet) ห้องรังสีวิทยา (X-ray) ห้อง CT Scan พื้นที่ชั้น 3 คือส่วนของห้องผู้ป่วยใน (IPD) ของสุนัข แมว และห้องพัก VIP ที่เจ้าของสามารถนอนกับสัตว์ได้ ในขณะที่พื้นที่ชั้น 4 ถูกใช้สำหรับเป็นพื้นที่ส่วนสำนักงาน ห้องประชุมหลัก (ที่ถูกออกแบบให้เป็นที่นั่งแบบสโลปขั้นบันได ซึ่งจุคนได้ 60-70 คน) และห้องประชุมย่อย โดยกำหนดให้พื้นที่ชั้นนี้ ถูกใช้เป็นพื้นที่สำหรับเรียนของนักเรียนสัตวแพทย์ผ่านระบบ CCTV พื้นที่ชั้นที่ 5 เป็นพื้นที่กึ่งเปิดโล่งสำหรับเป็นคาเฟ่สัตว์เลี้ยง ที่ออกแบบให้ผู้ใช้สอยพื้นที่สามารถรับอากาศจากภายนอกได้ ส่วนพื้นที่สนับสนุนและห้องน้ำถูกกำหนดให้วางอยู่ในแนวด้านหลังของอาคารฝั่งทิศเหนือ การออกแบบพื้นที่ให้สัตว์รู้สึกสงบไม่ตื่นตระหนก เป็นหัวใจหลักของการออกแบบโรงพยาบาลสัตว์ ส่งผลต่อการออกแบบพื้นที่ทั้งหมดเป็นระบบปิด ทีมผู้ออกแบบเลือกใช้ส่วนของพื้นที่ครีบอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กเดิมที่มีไว้กันแดดมาเป็นส่วนพื้นที่ใช้สอยของทางเดินด้านหน้าของอาคาร ทำหน้าที่ในมิติของการสัญจรไปพร้อมกับการเป็นพื้นที่ฉนวน (Buffer Area) ก่อนที่จะปิดส่วนดังกล่าวด้วยโครงสร้างของหน้ากากอาคาร (Façade) ด้วย แนวผนัง Polycarbonate สี Ice เพื่อกันฝุ่นและกรองแดด Façade ดังกล่าวขับเน้นมิติการใช้สอยผ่านแสงไฟ เพื่อแสดงกิจกรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภายในของสถาปัตยกรรม เนื่องจากโรงพยาบาลเปิดตลอด 24 ชั่วโมง ในส่วนของการสัญจรหลักทางดิ่งของอาคาร เชื่อมพื้นที่ด้วยการแยกลิฟต์ออกเป็น 3 ส่วน คือลิฟต์แก้วบริเวณส่วนต่อขยายของปีกอาคารด้านหน้าสำหรับผู้ใช้บริการทั่วไปที่มาพร้อมสัตว์เลี้ยง ให้บริการทุกชั้น ตั้งแต่ชั้น 1-5 ลิฟต์เดิมของตัวอาคารสำหรับแพทย์และการขนย้ายสัตว์เลี้ยงเพื่อรักษา ให้บริการที่ชั้น 1 -4 และลิฟต์สนับสนุนสำหรับขนย้ายขยะติดเชื้อ สำหรับพื้นที่ชั้น 1-3 ผนังและพื้นรวมถึงวัสดุกรุผิวต่างๆถูกกำหนดโดยใช้ทฤษฎีหลักจิตวิทยาที่มีผลต่อสัตว์ เช่นพื้นที่ทางเดินถูกการออกแบบด้วยสีโทนฟ้า และสีเขียวที่เป็นมิตรต่อความรู้สึกของสัตว์ ในขณะที่พื้นที่ห้องประชุมซึ่งถูกใช้งานโดยคน ทีมผู้ออกแบบเลือกใช้สีโทนร้อนที่ให้ความรู้สึกมีชีวิตชีวา และกระตุ้นให้เกิดจินตนาการ แก่ผู้ใช้สอยอาคาร ในขณะที่แนวระนาบด้านบนของอาคารทุกชั้นหลีกเลี่ยงการติดฝ้า เพื่อโชว์แนวการวางของท่อ และงานระบบทั้งหมดเพื่อความสะดวกในการซ่อมบำรุง และการปรับปรุงงานระบบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ทัศนียภาพด้านหน้าของโครงการ ฝั่งประชิดแนวถนน ที่ผู้ออกแบบกำหนดให้มีการติดตั้งระบบโครงผนัง Polycarbonate เป็นเปลือกอาคาร เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับระบบปิดของโรงพยาบาลไปพร้อมกับการขับเน้นมิติการใช้สอยของพื้นที่ภายในในเวลากลางคืน เพื่อแสดงกิจกรรมที่เกิดขึ้นตลอด 24 ชั่วโมงของโรงพยาบาล
พื้นที่ทางเข้าด้านหน้าของโรงพยาบาล ในส่วนของพื้นที่ส่วนต่อขยาย นำไปสู่พื้นที่ส่วนต้อนรับและโถงลิฟต์แก้วที่บริเวณชั้น 1 ของอาคาร
พื้นที่ส่วนต้อนรับ ส่วนพักคอย และเวชระเบียน ในบริเวณพื้นที่ส่วนต่อขยายชั้น 1 ถูกออกแบบโทนสีในโทนเย็น ซึ่งมีผลต่อจิตวิทยาความรู้สึกของสัตว์เลี้ยง โดยพื้นที่ส่วนนี้จะเป็นพื้นที่สัญจรหลักสำหรับเจ้าของที่พาสัตว์เลี้ยงเข้ามาทำการรักษาในชั้นต่อไป เพื่อความเป็นสัดส่วนและง่ายต่อการบริหารจัดการพื้นที่ใช้สอยภายใน
พื้นที่ส่วนสระว่ายน้ำเพื่อการทำกายภาพบำบัดสัตว์เลี้ยงที่ถูกออกแบบให้อยู่ในพื้นที่กึ่งเปิดโล่ง (Semi-outdoor area) บริเวณชั้น 1 โดยตัวสระจะถูกออกแบบระยะให้เจ้าของและผู้ดูแลเข้าช่วยเหลือขณะใช้สอยพื้นที่ได้ตลอดเวลา
พื้นที่ส่วนพักคอยและส่วนต้อนรับสำหรับเจ้าของสัตว์เลี้ยงบริเวณชั้น 2 ซึ่งเป็นพื้นที่ปฏิบัติการทางการแพทย์ ไม่ว่า จะเป็นการรังสีวิทยา (X-ray) CT-Scan และการผ่าตัดสัตว์เลี้ยงในแต่ละรูปแบบ และขนาดของสัตว์เลี้ยง
พื้นที่โถงทางเดินแบบ Single corridor ที่เกิดจากการใช้โครงสร้างของครีบคอนกรีตกันแดดเดิมมาปรับใช้เป็นทางเดินที่จ่ายไปยังห้องต่างๆของพื้นที่ผู้ป่วยในของโรงพยาบาล หรือไปยังส่วนพื้นที่สนับสนุน ของชั้น 3 โดยประโยชน์ใช้สอยของพื้นที่ส่วนนี้ถูกออกแบบให้เป็นพื้นที่พักฟื้นของสัตว์เลี้ยง ห้องพักสัตว์แบบ VIP ที่เจ้าของพักร่วมกับสัตว์เลี้ยงของตนได้
ทัศนียภาพของพื้นที่ใช้สอยในส่วนเอนกประสงค์ของพื้นที่ชั้น 4 โดยงานระบบทั้งหมดของตัวอาคารจะถูกโชว์แนวของท่อทั้งหมด เพื่อความสะดวกในการเข้าถึงจุดที่ต้องซ่อมแซมหรือต่อเติมงานระบบที่เกิดขึ้นระหว่างการใช้งานอาคาร
พื้นที่ส่วนทางเข้าห้องประชุม และห้องสำนักงานของโรงพยาบาลบริเวณพื้นที่ชั้น 4 ถูกออกแบบโทนสีในโทนร้อน เพื่อกระตุ้นต่อความคิดสร้างสัน และสร้างความมีชีวิตชีวาให้เกิดแก่ผู้ใช้สอยพื้นที่
ภาพตัดของโรงพยาบาลแสดงให้เห็นการกำหนดรูปแบบการใช้สอยที่แตกต่างกัน โดยในส่วนของพื้นที่ชั้น 1-3 เป็นพื้นที่สำหรับโรงพยาบาลสัตว์ โดยชั้น 1 เป็นส่วนที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงนำสัตว์เข้ามาตรวจรักษา พื้นที่ชั้น 2 เป็นพื้นที่สำหรับการผ่าตัดและรังสีวิทยา และพื้นที่ใช้สอยของชั้นที่ 3 เป็นส่วนห้องพักฟื้นในรูปแบบต่างๆ ในขณะที่พื้นที่เหนือขึ้นไปถูกใช้สำหรับคน โดยที่ชั้น 4 เป็นพื้นที่ของการประชุม และพัฒนาบุคลากร รวมถึงสำนักงาน และพื้นที่ชั้น 5 เป็นพื้นที่ของคาเฟ่กึ่งเปิดโล่งของโรงพยาบาล
บทความโดย : ดร.พลพัฒน์ นิลอุบล l nppn design & research