การปรับปรุงอาคาร (Renovation)
งานสถาปัตยกรรมดูเหมือนว่า “เวลา” และ “ความต้องการ” ที่เปลี่ยนแปลงไปจะเป็นสองปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดแนวคิดการปรับปรุงอาคาร (Renovation) มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สถาปัตยกรรมยิ่งผ่าน ”เวลา” มากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้เกิดคุณค่าในตัวมันเอง ทั้งในด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม แต่สิ่งที่ตามมาคือความเสื่อมของมันตามเวลาที่เพิ่มขึ้น การที่จะปรับปรุงรักษาคงสภาพสถาปัตยกรรมเดิมไว้โดยให้อยู่ร่วมกับบริบทสังคมสมัยใหม่ ต้องคำนึงถึง “ความต้องการ” ที่เปลี่ยนไปทั้งการใช้ หรือปรับความงามให้เป็นไปตามยุคสมัยด้วยนั้น จึงกลายเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับสถาปนิกในการทำงานเป็นอย่างมาก โดยระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา สังเกตได้ว่างานมีโครงการปรับปรุงอาคารเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะอาคารที่มีช่วงอายุ 30-50 ปี
Summer Design ในช่วงที่ผ่านมา มีลูกค้าติดต่องานปรับปรุงอาคารเข้ามามากพอสมควร ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าการปรับปรุงอาคารไม่น่าจะยุ่งยาก ใช้งบประมาณไม่มากนักและใช้เวลาไม่นานเพราะมีโครงสร้างอาคารเดิมอยู่แล้ว ความเป็นจริงแล้วตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง การปรับปรุงอาคารเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและยุ่งยากมาก การทำงานจะต้องใช้ทีมทำงานที่มีประสบการณ์ โดยเริ่มจาก
-สถาปนิก ต้องพูดคุยทำความเข้าใจกับเจ้าของอาคารให้ชัดเจนว่าจุดประสงค์ในการปรับปรุงครั้งนี้คืออะไร?
-งบประมาณที่ใช้เท่าไหร่?
- กฎหมายเกี่ยวข้องที่ต้องคำนึงมีอะไรบ้าง?
โดยรวบรวบความต้องการทั้งหมด ออกแบบผสมผสานกับอาคารเดิมให้สอดคล้องกับความต้องการในการใช้อาคารปัจจุบัน เขียนแบบที่ชัดเจนออกมาในการทำงานร่วมกับฝ่ายอื่นๆ ถัดมาคือ วิศวกร ก็ต้องมีความสามารถในการประเมินสภาพอาคารก่อนปรับปรุง ทั้งโครงสร้าง ระบบสุขาภิบาล ไฟฟ้า ออกแบบระบบต่างๆ ใหม่ รวมถึงแก้ไขข้อบกพร่อมของอาคารเดิม สุดท้ายคือผู้รับเหมา ควรมีประสบการณ์ในการทำงานปรับปรุงอาคารมาก่อน เพราะงานประเภทนี้มักเจอปัญหา หรือเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง ซึ่งต้องใช้คำแนะนำในการแก้ปัญหา เช่น เจอการทรุดตัวของโครงสร้าง ที่ไปกระทบระบบท่อน้ำใต้ดินหน้าเสียหาย ต้องรื้ออาคารเดิมมากขึ้นกว่าที่คาดไว้เพื่อหาตำแหน่งแก้ไข โดยเจ้าของโครงการเองจะต้องเผื่องบประมาณเพิ่มอีก 15-20% สำหรับเจอเหตุการณ์คาดไม่ถึงหน้างานเหล่านี้ บางครั้งการออกแบบปรับปรุงอาคารแทบจะเรียกได้ว่ารื้อทั้งหมดแล้วสร้างใหม่ อาจจะง่ายในการทำงาน และประหยัดงบประมาณก่อสร้างมากกว่าการที่ต้องเก็บอาคารเดิมไว้ แต่บ่อยครั้งเจ้าของอาคารเอง เลือกที่จะปรับปรุงโดยรักษาสภาพอาคารเดิมไว้ เนื่องจากคุณค่าทางจิตใจ
ตัวอย่างงานปรับปรุงอาคารที่
Summer Design
ได้มีโอกาศเข้าไปช่วยปรับปรุงห้องแถวที่ถนนเจริญกรุงที่มีอายุมากกว่า 30 ปี ทางเราได้รับโจทย์จากทางลูกค้าว่าต้องการปรับปรุงทั้งภายนอกและภายในอาคารเพื่อ
แก้ไขสภาพโครงสร้างเดิม
และเปลี่ยนการใช้พื้นที่ภายในอาคารเหมาะสมกับการใช้งานในปัจจุบัน
เมื่อเริ่มทำงานสำรวจโครงสร้าง ต้องมีการเสริมคาน และทำพื้นใหม่เกือบ 40% รวมถึงมีการปรับตำแหน่งห้องน้ำ&บันไดจากของเดิม
ระบบไฟฟ้าและสุขาภิบาลใหม่ทั้งหมด ซึ่งจุดนี้ทำให้งบประมาณสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้
ทำให้เราต้องพูดคุยกับเจ้าของบ้านถึงความจำเป็น
หาทางเลือกที่เหมาะสมในการทำงานและงบประมาณที่วางไว้
ส่วนที่น่าสนใจอีกอย่างคือทีมได้ออกแบบพื้นที่ภายในใหม่ทุกๆ
ชั้นในสไตล์ที่ต่างกันตามความต้องการของผู้ใช้แต่ละคน
ทำให้บ้านเดิมตั้งแต่รุ่นอากง อาม่าอยู่ในสภาพที่ดีขึ้นและสามารถยืดอายุ ส่งต่อใช้งานได้ไปถึงรุ่นหลานต่อไป
ในสถานที่ ที่รวบรวมความทรงจำของครอบครัวในทุกๆ รุ่นเอาไว้
อีกหนึ่ง งานปรับปรุงอาคารที่ทาง Summer Design สนุกไปกับการทำงานคือการปรับปรุง
Facade ตึก JJ Mall ที่จัตุจักร
ด้วยอาคารอายุเกือบ 20 ปี
โจทย์โครงการนี้คือการปรับภาพลักษณ์ของอาคารให้ทันสมัยขึ้น ตามบริบทใหม่ๆข้างเคียง
โดยเราได้เลือกใช้วัสดุ Aluminum sheet ตัดเป็น Modular
สามเหลี่ยม เจาะ CNC เพื่อลดน้ำหนักในส่วนปรับปรุงนี้ให้น้อยที่สุดและให้อากาศระบายสู่พื้นที่จอดรถภายในตามข้อกฏหมาย
การเลือกสีที่สดใสสร้างความโดดเด่นให้อาคารและออกแบบ Pattern
ให้มีความเคลื่อนไหว ทำให้เปลี่ยนภาพอาคารเดิมให้ดูทันสมัยขึ้น
ในมุมมองผู้ออกแบบ
คิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดการเลือกที่จะปรับปรุงอาคารนั้นคือ เจ้าของอาคารเข้าใจความต้องการของตัวเองในการปรับปรุง โดยปรึกษาทีมออกแบบ
วิศวกร วางแผนการปรับปรุงให้เหมาะกับความต้องการของตัวเอง รวมถึงหาทีมช่างที่มีความเข้าใจ
มีประสบการณ์เพื่อให้การปรับปรุงอาคารตอบโจทย์ในสิ่งที่ต้องการมากที่สุด
บทความโดย : Khun Nutchanun Boontassaro l Summer Design
ดูผลงานได้ที่ : https://designconnext.com/architect/DSN0001944