1. สถาปนิก มีหน้าที่รับฟังโจทย์ความต้องการของเจ้าของบ้าน สอบถามหาข้อมูลเกี่ยวกับเจ้าของบ้านให้มากที่สุด เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการคิดและการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนสมาชิกที่จะอยู่ในบ้านหลังที่จะออกแบบ พฤติกรรมและความชอบส่วนตัวของสมาชิกแต่ละคน กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดในแต่ละวันเวลา หรือความต้องการพิเศษ เช่น สระว่ายน้ำ ห้องฟิตเนส ห้องดูหนังฟังเพลง (Home Theatre) สภาพที่ดินที่จะปลูกสร้าง แดดลม สภาพโดยรอบพื้นที่ ทิศทางการเข้าออก ถนนหนทาง (ซึ่งมีผลต่อความยากง่ายในการขนส่งวัสดุก่อสร้างด้วย) รูปแบบอาคาร สไตล์ ความชอบส่วนตัวที่ไปพบเห็นการใช้งานที่อื่น เช่น มุมห้องนั่งเล่น มุมเฉลียง มุมครัว สิ่งเหล่านี้จะถูกประมวลผลร่วมกับทฤษฎีความรู้แล้วกลั่นออกมาเป็นแบบร่างเพื่อส่งให้เจ้าของบ้านตรวจและพัฒนาเป็นแบบจริงต่อไป
2. วิศวกรโครงสร้าง เป็นผู้รับผิดชอบในการเลือกใช้รูปแบบของโครงสร้าง ออกแบบและคำนวณขนาดของโครงสร้างได้แก่ เสาเข็ม ฐานราก เสา คาน พื้น หลังคา ฯลฯ รวมไปถึงโครงสร้างของสิ่งก่อสร้างโดยรอบบ้านด้วย เช่น รั้ว, ถนน, โรงจอดรถ เป็นต้น โดยปกติจะอยู่ในทีมงานเดียวกับสถาปนิก (เจ้าของบ้านบางคนอาจจ้างวิศวกรเองต่างหาก) การคำนวณการใส่เหล็กในเสา คาน ตอม่อ การเลือกใช้เข็มอาคาร การออกแบบโครงหลังคา โดยคำนวนตามหลักวิชาที่เรียนมา และการคำนวนรายการสำหรับบ้านแต่ละหลังส่งมอบให้สถาปนิก เพื่อส่งมอบต่อให้ผู้ว่าจ้างและยื่นโยธาเขตประกอบการขออนุญาตก่อสร้าง
3. วิศวกรงานระบบ แบ่งออกเป็น
3.1 วิศวกรงานระบบสุขาภิบาล เป็นผู้ออกแบบระบบการเดินท่อน้ำประปา ขนาดของถังเก็บน้ำและปั๊มน้ำ โดยคำนวณจากปริมาตรน้ำที่ใช้สอยภายในบ้าน และอุปกรณ์ที่ใช้น้ำทุกชนิด เพื่อให้มั่นใจว่า จะมีน้ำสำรองเพียงพอในกรณีที่การประปาหยุดจ่ายน้ำชั่วคราว ประเมินแรงดันและปริมาณน้ำประปาภายในบ้านให้เหมาะสมกับการใช้งาน รวมไปถึงออกแบบระบบบำบัดน้ำเสียและการระบายน้ำทิ้งสู่สาธารณะให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3.2 วิศวกรงานระบบไฟฟ้า เป็นผู้ออกแบบการเดินสายไฟ ขนาดสายไฟภายในบ้าน แยกวงจรภายในตู้ควบคุมระบบไฟฟ้าให้เหมาะสมกับลักษณะการใช้งานในแต่ละห้อง รวมไปถึงคำนวณหาขนาดและชนิดของมิเตอร์ที่จะต้องใช้สำหรับบ้าน เช่น 1 เฟส 15 แอมป์ หรือบ้านใหญ่ใช้ 3 เฟส 30 แอมป์ เป็นต้น เพื่อให้กระแสไฟเพียงพอทั้งสำหรับดวงโคมส่องสว่างและเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น แอร์ ตู้เย็น ทีวี
จุดที่เข้าใจกันผิดพลาดมาก คือ จ้างสถาปนิกออกแบบเฉพาะแบบสถาปัตย์และเราหาวิศวกรเอง แบบนี้เสียเวลาในการประสานงานแก้ไข คำนวนแบบ หาผู้รับผิดชอบได้ยาก ผิดกับการจ้างทั้งทีมซึ่งสถาปนิกจะต้องรับผิดชอบงานทุกระบบเพราะรวมอยู่ในทีม
4. ผู้รับเหมา ผู้ที่เราจ้างมาเพื่อให้สร้างบ้านตามแบบ ซึ่งผู้รับเหมาอาจมาจากการแนะนำของเพื่อน ญาติพี่น้อง หรือการที่เราผ่านไปผ่านมาแล้วเห็นผลงานการก่อสร้าง หรืออาจให้สถาปนิกแนะนำมาด้วยก็ได้ แต่แนะนำว่าการคัดเลือกควรเปรียบเทียบหลายๆ ด้านประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฝีมือช่าง ผลงานที่ทำล่าสุด ราคาก่อสร้างที่เสนอตามแบบเรา อุปนิสัย ฯลฯ การจ้างก็ควรใช้สัญญาที่ร่างจากเรา ตกลงเรื่องฝีมือ คุณภาพงานที่ต้องการ วิธีตรวจรับงาน และการตกลงราคาให้เป็นที่เรียบร้อยก่อนลงมือสร้าง จะได้ไม่ผิดใจกันในภายหลัง ผู้รับเหมาอาจหมายรวมถึงผู้รับเหมารายย่อยที่เจ้าของบ้านว่างจ้างเพื่อทำงานบางอย่างโดยเฉพาะด้วย เช่น งานเหมามุงหลังคา งานระบบสระว่ายน้ำ งานประตูหน้าต่าง งานจัดสวน ฯลฯ
5. โฟร์แมน (คนคุมงานก่อสร้าง) ปรกติในงานก่อสร้างบ้านทั่วๆ ไปที่ขนาดไม่ใหญ่และงานไม่ยุ่งยากจะไม่ค่อยจ้างกัน เจ้าของบ้านจะเข้ามาดูหน้างานก่อสร้างเอง รู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้างขึ้นอยู่กับแต่ละท่าน แต่ถ้าไม่อยากสับสนเกี่ยวกับเรื่องที่ต้องตรวจสอบคุณภาพการก่อสร้างที่หน้างาน ก็สามารถขอความช่วยเหลือจากสถาปนิกให้เข้ามาช่วยดูหน้างานเพิ่มขึ้น โดยจ่ายเงินส่วนเพิ่มหรือให้ช่วยจัดหา ช่างควบคุมหน้างานที่จบ ปวช./ปสว. เข้ามาควบคุมงานแทนก็ได้ โดยอาจจ้างเป็น Part Time จนจบโครงการ โดยประสานงานเข้าตรวจสอบเป็นระยะและคอยประสานงานแจ้งความคืบหน้าและการแก้ไขปัญหาหน้างานกับสถาปนิกและเจ้าของบ้านเป็นระยะๆ การจ้างผู้ที่อยู่ในวิชาชีพและปฎิบัติงานเป็นการประจำอยู่แล้วจะทำให้การก่อสร้างเป็นไปได้ด้วยดี เพราะรู้และมองออกว่าขั้นตอนต่อไปจะเป็นอย่างไร อะไรจะเกิดขึ้นบ้างหากไม่มีการแก้ไข เป็นต้น
6. เจ้าหน้าที่(โยธา)เขต คือผู้ตรวจสอบแบบบ้านที่เรายื่นขออนุญาตก่อสร้าง ณ ที่ว่าการเขต หรือที่ว่าการอำเภอเพื่อตรวจสอบว่า การออกแบบถูกต้องตามเทศบัญญัติของท้องที่นั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระยะถอยร่นอาคารจากแนวเขตที่ดิน ขนาดช่องเปิด ความสูงอาคาร ขนาดพื้นที่ของห้องต่างๆ ภายในบ้าน ฯลฯ เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างสะดวกสบายตามมาตรฐานขั้นต่ำที่กำหนดไว้ ซึ่งถ้าแบบบ้านที่ยื่นขอถูกต้องตามเกณฑ์แล้ว ก็จะออกใบอนุญาตให้ก่อสร้างตามแบบที่ยื่นขอ โดยให้ระยะเวลาในการก่อสร้างอย่างเหมาะสมตามขนาดของอาคารที่ยื่นขอ
7. ซินแส แม้จะเป็นลำดับท้ายๆ
แต่จริงๆแล้วกำชะตาของทุกคนรวมถึงเจ้าของบ้าน เพราะต่อให้ออกแบบถูกต้องอย่างไร
แต่ถ้าเกิดซินแสทักขึ้นมาไม่พ้นที่จะต้องมีการรื้อปรับทุบเพื่อปรับให้ถูกต้องตามหลักฮวงจุ้ย
ถ้าท่านมีความเชื่อถือในหลักฮวงจุ้ยและต้องการให้บ้านออกมาดีและทุกคนไม่ปวดหัวภายหลัง
แนะนำให้นำสถาปนิกและมัณฑนากรพบกับซินแสตั้งแต่ออกแบบร่างต้นๆเพื่อรับทราบกฏและปรับแก้ไขกันก่อนที่จะลงมือทำแบบจริง และที่สำคัญที่สุด ใช้ซินแสท่านเดียวที่ท่านนับถือที่สุดเพื่อไม่ต้องปวดหัวเรื่องแนะนำไม่ตรงกัน