บ้านสวนสีคิ้ว (Sricute Cottage)
งานออกแบบบ้านควรสะท้อนตัวตนและเรื่องราวของเจ้าของบ้าน ผ่านการผสมผสานมรดกทางวัฒนธรรม การสร้างพื้นที่เพื่อตอบโจทย์การใช้งาน รวมถึงการออกแบบที่ถ่ายทอดความฝันของเจ้าของหรือผู้อยู่อาศัย
ในพื้นที่ลุ่มน้ำลำตะคลอง
อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายของวัฒนธรรมไทยยวน ซึ่งสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน
มีบ้านหลังหนึ่งที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตครอบครัวไทยยวน
ผสานกับประสบการณ์ชีวิตจากอีกฟากหนึ่งของโลก บ้านหลังนี้ คือ บ้านสวนสีคิ้ว (Sricute Cottage) ของคุณเรณู
พื้นที่ลุ่มน้ำลำตะคลอง บริเวณอำเภอสีคิ้ว เป็นที่ตั้งของกลุ่มชุมชนไทยยวนที่อพยพมาจากเชียงแสนตอนเหนือของประเทศไทยเมื่อหลายช่วยอายุคนมาแล้ว ชาวไทยยวนสีคิ้วประกอบอาชีพกสิกรรม ทำไร่ ทำนา เลี้ยงสัตว์ และเมื่อมีเวลาว่างก็จะทำหัตถกรรม ทอผ้า จักรสาน เป็นกิจวัตร ที่สืบทอดมาเป็นประเพณี มีภาษา มีเครื่องแต่งกาย มีอาหาร อันเป็นวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ของตนเอง เจ้าของโครงการ บ้านสวนสีคิ้ว ซึ่งเป็นลูกหลานชาวไทยยวน ที่เติบโตและใช้ชีวิตในสหรัฐอเมริกากว่า 30 ปี ได้ตัดสินใจกลับมาใช้ชีวิตวัยเกษียณที่สีคิ้ว เธอได้รับมรดกที่ดินขนาด 2 ไร่ ใกล้ลำตะคลอง โดยที่ดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้านี้มีลักษณะเป็นที่ราบเนินเขา ด้านหน้าติดถนน และด้านหลังมองเห็นทิวเขาอีโต้ (cuesta) ในพื้นที่ราบสูงโคราช
เจ้าของบ้านเริ่มวางแผนในการสร้างบ้านหลังสุดท้ายบนที่ดินมรดก เพื่อที่จะได้กลับมาใช้ชีวิตกับคุณพ่อและคุณแม่ และด้วยความที่คุณพ่อเคยเป็นนายช่างใหญ่มาก่อน จึงได้ช่วยวางผังการใช้งานที่ดิน โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน พื้นที่ส่วนหน้าสร้างเป็นโกดัง สำหรับเก็บข้าวของที่ขนย้ายมาจากประเทศสหรัฐอเมริกาในระหว่างการก่อสร้าง พื้นที่ส่วนกลางเป็นส่วนพักอาศัย พร้อมมีบ่อน้ำซึ่งขุดไว้สำหรับกักเก็บน้ำดูแลที่ดิน และมีต้นมะขามใหญ่อายุกว่า 20 ปี ที่คุณพ่อ-คุณแม่ปลูกไว้ทำกิน 1 ต้น พื้นที่ส่วนสุดท้ายเป็นสวนสำหรับปลูกผัก ผลไม้ มีโซนแยกขยะ และหมักปุ๋ยอินทรีย์ไว้ใช้บำรุงพืชพันธุ์ในสวน
บ้านสวนสีคิ้ว ได้รับการออกแบบสำหรับสมาชิกทั้งหมด 4 คน ได้แก่ เจ้าของบ้าน คุณแม่ชาวไทยยวน และลูกสาวชาวไทย-อเมริกัน 2 คน เจ้าของต้องการให้บ้านหลังนี้มีลักษณะของพื้นที่ที่คุ้นเคยแบบในบ้านเดิมที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เช่น bay window กระจกสีที่บานประตูและหน้าต่างที่โถงบันได ประกอบกับการทาสีห้องเพื่อสร้าง character และ mood & tone ที่แตกต่างกันในแต่ละห้อง ในขณะเดียวกันก็ต้องการให้บ้านยกพื้นสูง และมีความโปร่งโล่งแบบบ้านไทย มีชานขนาดใหญ่ มีครัวที่ทำอาหารได้ทั้งไทยและเทศ สิ่งสำคัญที่สุดคือ เธอต้องการนำเฟอร์นิเจอร์และงานศิลปะที่สะสมไว้ ซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องราวชีวิตของเธอในอีกซีกโลกหนึ่ง มาเก็บรวบรวมไว้เป็นของสะสมส่วนตัว (private collection) ที่บ้านหลังนี้ด้วย
บ้านสวนสีคิ้ว มีลักษณะเป็นบ้านโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น ยกพื้นสูง ผังเป็นรูปตัวแอล หันหน้าไปทางด้านทิศตะวันออก หลังคาทรงจั่วมีชายคาทอดยาว บ้านได้รับการออกแบบให้พื้นที่ห้องเชื่อมถึงกัน แต่ละห้องมีสีเฉพาะตามสีบ้านเดิมที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ชั้นล่างมีห้องรับแขกเป็นโถงทางเข้า มีห้องครัวที่สามารถขยายเพื่อประกอบอาหารแบบครัวไทย และมีการออกแบบให้พื้นที่เชื่อมกับห้องทานอาหารที่ต่อเนื่องกับห้องนั่งเล่นด้วยการลดระดับพื้น และเชื่อมต่อกับชานบ้านด้วยหน้าต่างสูง มีห้องนอนสำหรับคุณแม่ที่สามารถชมวิวสวน ห้องน้ำและห้องเก็บของ ชั้นบนมีห้องพระ ห้องนอนเจ้าของบ้านที่สามารถมองเห็นทุกความเคลื่อนไหวที่หน้าบ้าน ห้องนอนลูกสาวคนโตที่มองเห็นวิวภูเขาที่ราบสูงโคราช และห้องลูกสาวคนเล็ก ซึ่งเป็นห้องที่พร้อมปรับเปลี่ยนการใช้งานหลากหลายเนื่องจากยังคงอาศัยอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา
ความโดดเด่นในการออกแบบบ้านหลังนี้ คือ การผสมผสานเรื่องราวสองวัฒนธรรม รูปลักษณ์ภายนอกมีความร่วมสมัย
ผังพื้นมีลักษณะการใช้พื้นที่แบบไทย รูปทรงกะทัดรัด
ไม่เล็กเกินไปจนอึดอัดแต่ก็ไม่ใหญ่โตเกินกว่าความสามารถในการดูแลรักษาได้ เน้นพื้นที่เปิดโถงโล่งเป็น
double space เชื่อมต่อกันสองชั้นบริเวณกลางบ้าน
โดยพื้นที่ด้านหน้าโถงเป็นหน้าต่างสูง ส่วนด้านหลังเป็นประตูบานเฟี้ยม เมื่อเปิดประตูนี้ออกพื้นที่จะมีความโปร่งโล่ง
ซึ่งมีลักษณะเหมือนพื้นที่ใต้ถุนบ้านไทย นอกจากนี้การทำ bay window เป็นมุกยื่น ประตูหน้าต่างไม้ทรงสูงพร้อมประดับกระจกสี ติดตั้งตามตำแหน่งและระดับที่สอดคล้องกับการใช้งาน
ช่วยส่งเสริมให้รูปทรงและหน้าตาของบ้านมีลักษณะเฉพาะตัว
เจ้าของบ้านได้นำเฟอร์นิเจอร์ไม้ต่าง ๆ ที่ขนย้ายมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา
มาเติมเต็มความทรงจำและเรื่องราวของชีวิตในบ้านหลังสุดท้ายของเธอเอง ทั้งโต๊ะเครื่องแป้งซึ่งเป็นของขวัญในวันแต่งงาน
โต๊ะทำงานแบบวิคตอเรียน (Victorian desk) ที่สามารถเปิดฝาตู้ให้กางออกมาเป็นโต๊ะเขียนหนังสือได้
เตียงไม้ที่ใช้งานมาตลอดระยะเวลาที่อยู่ต่างบ้านต่างเมือง เก้าอี้อาร์มแชร์สุดเก๋หลากหลายแบบ
โต๊ะเรียนหนังสือของลูกสาวในวัยเด็ก โต๊ะเขียนแบบพร้อมเก้าอี้ของอดีตสามี
ตู้เสื้อผ้าไม้แกะสลักลายสิงโตจากพม่า นอกจากนี้ยังมีงานศิลปะที่สะสม
พร้อมงานทอผ้าต่าง ๆ ที่เจ้าของบ้านเป็นผู้รังสรรค์ไว้ โดยของทุกชิ้นถูกบรรจงจัดวางตามตำแหน่งที่ตอบรับกับการใช้งานอย่างลงตัว
ทุกวันนี้เจ้าของได้ใช้ชีวิตวัยเกษียณในบ้านสวนสีคิ้ว เพื่อเปิดรับญาติพี่น้อง
เพื่อน และผู้มาเยือนจากต่างถิ่นให้เข้าพักอยู่เสมอ เธอมักเล่าเรื่องราวความทรงจำ
และประสบการณ์ต่าง ๆ ในชีวิต ผ่านสิ่งของที่ถูกจัดเรียงไว้ในแต่ละห้อง ให้ผู้มาเยือนได้มีรอยยิ้ม
และนำความทรงจำที่งดงามกลับไป
บ้านสวนสีคิ้ว (Sricute cottage) เป็นตัวอย่างของการผสมผสานเรื่องราวทางวัฒนธรรม ด้วยรูปลักษณ์ภายนอกที่มีความร่วมสมัย และผังการใช้งานที่สะท้อนแนวคิดแบบไทย โดยการออกแบบและสร้างสรรค์อย่างพิถีพิถัน ตามที่ CODE Studio เชื่อว่า บ้านทุกหลังควรสะท้อนตัวตนและเรื่องราวของเจ้าของบ้าน ผ่านการผสมผสานมรดกทางวัฒนธรรม การสร้างพื้นที่เพื่อตอบโจทย์การใช้งาน รวมถึงการออกแบบที่ถ่ายทอดความฝันของเจ้าของหรือผู้อยู่อาศัย ทีมงานของเราพร้อมที่จะสร้างสรรค์บ้านที่มีเอกลักษณ์และอยู่เหนือกาลเวลาสำหรับคุณ
บทความโดย : Khun Prat Tinrat l CODE Studio
ดูผลงานได้ที่ : https://designconnext.com/architect/DSN0003792