DE-CODE ตึกแถวแซมฟ้าการช่าง
โดย CODE Studio
Cultural-Oriented Design Studio หรือ CODE Studio ตั้งอยู่บนชั้น 2 ของตึกแถวแลขที่ 84 ร้านแซมฟ้าการช่าง ร้านขายประตูหน้าต่างไม้บนถนนบริพัตร ย่านค้าไม้หลังวัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร ที่ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายประตูหน้าต่างไม้มายาวนานกว่า 77 ปี โดยคุณศิวัช วิทยเลิศปัญญา ทายาทรุ่นที่ 3 ของแซมฟ้าการช่าง และเป็นสถาปนิกผู้ร่วมก่อตั้ง CODE Studio ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงพื้นที่ตึกแถวเก่า ด้วยวิธีการออกแบบโครงการเพื่อการปรับเปลี่ยนการใช้สอยอาคาร (Adaptive Reuse) โดยเปลี่ยนจากพื้นที่เดิมที่เคยเป็นโรงงานผลิตประตูหน้าต่างไม้ของแซมฟ้าการช่าง มาเป็นพื้นที่ Workshop ของ CODE Studio
โครงการ DE-CODE ตึกแถวแซมฟ้าการช่าง เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. 2563 เมื่อคุณศิวัชและเพื่อนได้เข้ามาสำรวจพื้นที่ตึกแถวร้านแซมฟ้าการช่าง และได้เลือกพื้นที่ชั้น 2 ของตึกแถวเลขที่ 84 ที่แต่เดิมเคยใช้เป็นโรงงานผลิตประตูหน้าต่างไม้มาเป็นตั้งโครงการ ในเวลานั้นพื้นที่ดังกล่าวถูกใช้เป็นที่เก็บของของร้านแซมฟ้ามีประตูหน้าต่างไม้รุ่นเก่าวางอยู่เต็มห้อง สภาพพื้นที่ค่อนข้างเก่ามีฝุ่นหนา มีการเจาะผนังเพื่อให้สะดวกต่อการขนส่งไม้และประตูหน้าต่างที่ผลิตจากโรงงานชั้นบน ลงไปที่ด้านหน้าร้าน และมีร่องรอยความเสียหายปรากฎตั้งแต่พื้นตลอดจนถึงฝ้าเพดาน เมื่อสำรวจและเก็บรวบรวมข้อมูลอาคารทั้งหมดแล้ว จึงตัดสินใจวางแผนการปรับปรุงซ่อมแซมด้วยวิธีการปรับเปลี่ยนการใช้สอยอาคาร (Adaptive Reuse) โดยคำนึงถึงกระบวนการอนุรักษ์อาคารเก่า เพื่อรักษาสภาพดั้งเดิมของพื้นที่ไว้ โดยปรับปรุงพื้นที่ตามความจำเป็นในการใช้งาน และหาวิธีการชะลอความเสียหายของร่องรอยที่เกิดจากความเสื่อมสภาพของอาคาร รวมทั้งยังคงร่องรอยบางส่วนไว้ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของพื้นที่ ตอบรับกับแนวคิดหลักของ CODE Studio ที่มองว่าร่องรอยดังกล่าวเปรียบเสมือนมรดกทางวัฒนธรรมที่หลงเหลืออยู่ ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นต้นทุนในการพัฒนางานออกแบบด้วยกระบวนการสร้างสรรค์ เพื่อให้ได้ผลงานที่มีความโดดเด่นมีอัตลักษณ์เฉพาะตัว และมีความภาคภูมิใจพร้อมที่จะส่งต่อไปยังคนรุ่นต่อไปได้
การปรับเปลี่ยนพื้นที่ใช้สอยมีขั้นตอนการดำเนินการเริ่มตั้งแต่ การทำความเข้าใจอาคารและสถานที่ตั้ง การประเมินคุณค่าและความสำคัญของอาคาร การสำรวจสภาพอาคาร การเลือกแนวทางวิธีการในการอนุรักษ์ และการประเมินความสามารถในการปรับปรุงสภาพอาคารตามกรอบวงเงินงบประมาณที่มี ก่อนที่จะเริ่มวางแผนการดำเนินการซ่อมแซมอาคาร โดยเริ่มจากการรังวัดอาคารโดยละเอียด เก็บบันทึกร่องรอยความเสียหายของอาคาร จำแนกประเภทความเสียหายและจัดหาวิธีการซ่อมแซมร่องรอยความเสียหายและเสื่อมสภาพของอาคารดังกล่าวให้เหมาะสม ที่สำคัญที่สุดคือ การจัดหาช่างผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้ามาดำเนินการซ่อมแซม โดยมีการทำงานร่วมกับช่างอย่างใกล้ชิด ในขณะเดียวกันก็ทำการออกแบบปรับเปลี่ยนการใช้สอยใหม่ โดยมีแนวคิดในการแบ่งพื้นที่ใช้สอยออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรกพื้นที่ด้านหน้าอาคารเป็นพื้นที่สำหรับใช้งาน Workshop ที่เน้นการจัดเตรียมพื้นที่ให้พร้อมต่อการใช้งาน มีงานออกแบบ furniture ลอยตัวสามารถรองรับการทำงานได้ 8-10 คน และส่วนที่สองพื้นที่ด้านใน เป็นพื้นที่ต้อนรับและใช้เป็น Showcase สำหรับเป็นตัวอย่างของระดับในการซ่อมแซมอาคาร ที่ได้แบ่งออกเป็น 4 ระดับ คือ 1) คงสภาพเดิม 2) ต่อเติมส่วนที่ขาด 3) อุดปะร่องรอยด้วยวัสดุใหม่ และ 4) ทำผิวสัมผัสใหม่ที่เป็นมิตรกับวัสดุเดิมให้มากที่สุด โดยระดับที่ 1-3 แสดงอยู่ที่ผนังและพื้นของส่วนด้านในอาคาร และระดับที่ 4 แสดงอยู่ที่พื้นที่การใช้งาน Workshop ด้านหน้าอาคาร
จุดเด่นของโครงการนี้ คือ มีการออกแบบประตูหน้าต่างรูปแบบต่าง ๆ โดยใช้เทคนิคช่างฝีมือดั้งเดิมของร้านแซมฟ้าการช่างมาปิดช่องเปิดต่าง ๆ ที่ถูกเจาะไว้ตั้งแต่สมัยเป็นโรงงาน ถือเป็นการนำเอาสิ่งที่มีอยู่เดิมมาปรับใช้กับพื้นที่และโครงการในปัจจุบันให้ได้ประโยชน์สูงสุด
ปัจจุบัน CODE Studio ได้เปิดใช้พื้นที่ Workshop มาเป็นเวลา 1 ปีแล้ว CODE คาดหวังว่าการออกแบบเพื่อปรับเปลี่ยนพื้นที่การใช้งานตึกแถว DE-CODE จะเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาและเป็นตัวอย่างให้ผู้สนใจในงานออกแบบด้วยวิธีการดังกล่าวได้ร่วมเรียนรู้และทำความเข้าใจไปพร้อม ๆ กัน CODE Studio มีความเชี่ยวชาญในการนำเรื่องราวและวัฒนธรรมดั้งเดิมมาผสมผสานในงานออกแบบใหม่ CODE Studio ไม่ได้มีเป้าหมายเพียงแค่สร้างสรรค์อาคารที่สวยงามและมีประสิทธิภาพเท่านั้น CODE Studio ยังสร้างสรรค์พื้นที่ที่บอกเล่าเรื่องราวและส่งต่อมรดกทางวัฒนธรรม เพื่อให้ได้ผลงานที่มีความโดดเด่นมีอัตลักษณ์เฉพาะตัวอีกด้วย
บทความโดย : Khun Prat Tinrat l CODE Studio
ดูผลงานได้ที่ : https://designconnext.com/architect/DSN0003792